Monday, March 5, 2007

La Radiotechniques R120 SE amplifier

La Radiotechniques R120 SE amplifier

RT R120 SE drive ด้วย STC CV1988 ( 6SN7 )

ที่มา

เมื่อผมเริ่มสนใจในการ DIY แอมป์หลอดนั้น ผมก็เหมือนเพื่อนๆอีกหลายคนที่อยากทำ 2A3 และ 300B โดยเฉพาะ 2A3 นั้นผมสนใจเป็นพิเศษอาจด้วยหน้าตารูปร่างและชื่อเสียงอันโด่งดังของมัน แต่จากการได้รู้จักกับเพื่อนในกลุ่ม DIY นี้เอง เพื่อนๆก็ได้แนะนำให้ผมทดลองศึกษาหลอดในกลุ่มยุโรปดู โดยเขาได้แนะนำหลอดเบอร์หนึ่งซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก นั่นคือหลอด La Radiotechniques ( RT ) R120 ซึ่งเป็นหลอด Triode จากประเทศฝรั่งเศส โดยหลอดเบอร์นี้มีคุณลักษณะที่ใกล้เคียงกับ 2A3 มาก คือทำงานที่แรงดัน plate ประมาณ 250V กระแส 60mA และใช้หม้อแปลง output ที่ 2.5K ได้ power ประมาณ 2W และด้วยความที่เป็นหลอดประเภท indirect heat นี่เอง หลอดนี้น่าจะทำได้ง่ายกว่าเหมาะสำหรับมือใหม่อย่างผม แม้โดยทั่วไปจะไม่มีใครรู้จักกันนักอาจหาตัวอย่างวงจรเพื่อเป็นแนวทางได้ยาก แต่หลอดเบอร์นี้ก็เป็นหลอดที่นัก DIY ชาวญี่ปุ่นนิยมกันมากเพราะเชื่อว่ามีแนวเสียงที่เป็นของมันเอง และเสียงดีไม่แพ้ 2A3 ทั่วไปประกอบกับความหายากของมัน ทำให้ราคาหลอดค่อนข้างแพง แต่ในขณะนั้นร้าน Sacthailand มีขายอยู่ในราคาที่ไม่แพง โดยขายถูกกว่าซื้อใน ebay มาก ผมจึงได้ไปซื้อหลอดดังกล่าวมาทดลองทำแอมป์ดู

วงจรใน version แรกๆ ที่ใช้ 6SN7 drive แบบ parallel

แอมป์ตัวนี้เป็นแอมป์ตัวแรกที่ผมเริ่มออกแบบเอง หลังจากที่ได้เข้าอบรมใน class ที่สอนโดยคุณ art , คุณปั๊ป และคุณแมพ ในตอนที่มีการ meeting ของ Diyer กลุ่ม HTG2 และจากความรู้ที่ได้จาก class ดังกล่าวประกอบกับการทบทวนจาก YB2002 และ YB2004 ผมจึงได้ออกแบบดู โดยทำแบบง่ายๆไปก่อน หลอด driver ผมก็ใช้หลอด 6SN7 เพราะหาได้ง่าย ซึ่งครั้งแรกเป็นแบบ 2 stage anode follower แต่ปรากฏว่าเกนขยายมากเกินไป เสียงจี่และฮัมค่อนข้างดัง เปิด volume ของปรีเพียงนิดเดียวก็ดังมาก โดยในขณะนั้นผมใช้ปรีซึ่งใช้หลอด #26 อยู่ ดังนั้นผมจึงทดลองเปลี่ยนวงจร driver เป็น stage เดียวแต่ใช้วิธีขนานหลอดแทนเนื่องจากผมชอบที่จะมีหลอด 2 ข้างดูสมดุลย์ดี ส่วนภาคจ่ายไฟก็ใช้หลอด Telefunken AZ12 ผ่านวงจร CLCRC ธรรมดา ส่วนการจุดใส้หลอดทั้งหลอด driver และหลอด power ก็ใช้ AC จุด แค่นี้ก็เงียบดีแล้วครับ

อุปกรณ์ภายในส่วนใหญ่ได้จากบ้านหม้อ ใช้ C coupling ของ Jensen bi cap ด้วย russia teflon

เสียงของแอมป์ตัวนี้ออกไปทางนุ่มนวล เด่นเรื่องเสียงร้อง แต่ dynamic ยังไม่ค่อยดีนัก แรกๆผมใช้หลอด 6SN7 ของ STC เบอร์ CV1988 ซึ่งเป็นหลอดเกรดทหาร ต่อมาผมลองเปลี่ยนเป็น C3m ของ Siemens ก็ได้รายละเอียดเสียงที่มากขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ลดความนุ่มนวลลงไป ผมทดลองแม้กระทั่งใช้ EL84 ของ Tesla มา drive ก็ได้ผลดีขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้พลังเสียงเข้มข้นขึ้นมาอันเนื่องมาจากอาจเป็นเพราะคุณลักษณะของการใช้หลอด power มา drive และในท้ายสุดผมได้นำหลอด STC ML-6 มาใช้แทน โดยซึ่งผมดูแล้ว ML-6 มี specification ที่ดีน่าจะเหมาะกับการ drive คือเป็นหลอดที่มี Rp ค่อนข้างต่ำ และยังทำงานที่แรงดันระดับ 250V อันใกล้เคียงกับ R120 ทำให้ไม่ยุ่งยากกับการปรับเปลี่ยนภาคจ่ายไฟ ปรากฏว่าได้ผลดีมากครับ

R120 version ปัจจุบัน drive ด้วย ML-6
* ตามรูปผมเปลี่ยนไปใช้หม้อแปลง output แบบแยกแท่นออกไป โดยใช้หม้อแปลงของ Hashimoto HSU 20-3.5 ที่ 2.5K *

แนวของเสียงเมื่อ drive ด้วย ML-6 นั้นดีจนผมแปลกใจ เดิมผมไม่ชอบ R120 เลยเมื่อเปรียบเทียบกับแอมป์ตัวอื่นเช่น EL156 SE และ F2A PP แต่เมื่อผมใช้ ML-6 drive ผมจึงพบว่าเสียงแหลมและทุ้มที่ไม่ค่อยดี ขาด dynamic นั้นกลับมาสมดุลย์กับเสียงกลาง รายละเอียดเสียงก็ดีขึ้น ฟังได้หลากหลายขึ้น แต่เครื่องหมายการค้าก็ยังเป็นเพลงในแนวเพลงร้องซึ่งดีมากๆครับโดยเฉพาะเมื่อจับคู่กับปรี U415 ( หรือ RE134 ) นั้น เข้ากันได้ดีมากๆ

สุดท้ายแอมป์ตัวนี้ทำให้ผมทราบว่าหลอด drive ที่เหมาะสมมีความจำเป็นอย่างมาก บางครั้งหลอดที่ดีอาจไม่แสดงความสามารถออกมาได้เมื่อมันถูกบดบังด้วยอุปกรณ์อื่น หรือแม้แต่การออกแบบจุดทำงานที่ไม่เหมาะสม ผมคิดว่าถ้าผมขยันจูนมากกว่านี้ผมอาจได้ฟังเสียงที่ดียิ่งขึ้นไปอีกของแอมป์ตัวนี้ครับ

*** รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก YB2005 ครับ ***


No comments: