Monday, March 5, 2007

Telefunken EL156 SE Amplifier

Telefunken EL156 SE Amplifier


Telefunken EL156 10W SE amplifier
ที่มา

หลังจากผมได้ออกแบบและทำแอมป์ Single end โดยใช้หลอด R120 แล้ว ผมชักติดใจ เพราะพอทำแล้วประสพความสำเร็จเราก็มีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อ ผมจึงได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับหลอดทางยุโรปโดยเฉพาะหลอดของเยอรมันมากยิ่งขึ้น ซึ่งในกลุ่มแรกๆของหลอด power ที่ผมศึกษานั้นคือหลอดตระกูล EL156 เพราะได้รับคำแนะนำจากเพื่อนว่าหลอด EL156 นี้เป็นหลอดที่น่าสนใจและน่าจะมีแนวเสียงที่ดีมากหลอดหนึ่ง ประกอบกับมีกำลังขับค่อนข้างสูงทำ SE amp ได้กำลังขับในระดับถึง 10W เพียงแต่ว่าอาจหาได้ยากและมีราคาค่อนข้างสูง แต่ตอนนั้นเพื่อนคนหนึ่งมีหลอด Siemens EL156 อยู่ ผมจึงไปขอแบ่งมา พร้อมๆกับหลอด EZ 150 ซึ่งเป็นหลอด rectifier ที่มีรูปทรงเหมือนกัน

Telefunken และ Siemens EL156

หลอด EL156 เป็นหลอดประเภท Indirect heat pentode มีโครงสร้างคล้ายหลอด KT88 อย่างมาก เมื่อ run เป็น Triode mode ในจุดทำงานที่เหมาะสมตาม datasheet นั้นน่าจะทำ SE amp ได้กำลังเกือบ 10W และหาก run เป็น ultra linear หรือ pentode mode น่าจะได้กำลังที่สูงขึ้นประมาณ 15W หรืออาจมากกว่านั้นได้เลย หลอด EL156 นี้ถูกนำไปใช้ในแอมป์ของเยอรมันในสมัยก่อนโดยใช้สำหรับโรงหนัง แต่อาจโด่งดังน้อยกว่า F2A ที่ Klangfilm นำมาใช้ในแอมป์ของตัวเองในยุดเดียวกัน ในปัจจุบัน EL156 เป็นหลอดที่นัก DIY จำนวนมากให้ความสนใจและตามหามาสะสมทำให้มีราคาค่อนข้างสูง โดยเท่าที่เห็นจะมีผลิตออกมา 2 ยี่ห้อคือ Siemens และ Telefunken โดยผมมีหลอดทั้ง 2 ยี่ห้อ แต่เมื่อดูโครงสร้างจะเหมือนกันเกือบ 100% และเมื่อฟังผมก็ฟังความแตกต่างไม่ออกเช่นกันจึงคิดว่าอาจผลิตจากแหล่งเดียวกัน เพราะแม้แต่ EZ150 ที่ผมมีนั้นติดยี่ห้อ Telefunken แต่กล่องก็ยังพิมพ์ว่าผลิตโดย Siemens

วงจรของ EL156 drive ด้วย C3m

ในการออกแบบแอมป์ตัวนี้ผมใช้หลอด C3m ซึ่งเป็นหลอด pentode เช่นกัน โดยเป็นหลอดที่มีโครงสร้างเป็นหลอดแก้วแต่ shield ด้วยเหล็ก ( แต่ผมได้ทำการถอดครอบเหล็กออกเพื่อโชว์ plate ซึ่งมีลักษณะเป็นตาข่ายสวยงาม ) ซึ่งมีผู้นิยมนำมาใช้เป็นหลอด driver กันมาก ผมได้ออกแบบให้ C3m drive stage เดียว แล้วใช้ RC coupling ไปที่หลอด output ซึ่งทั้งคู่ถูก set ให้ทำงานใน triode mode สำหรับหม้อแปลง output นั้นผมใช้ที่ 3.5K เดิมผมใช้หม้อแปลง custom made ของคุณสมชาย ต่อมาผมเปลี่ยนมาใช้หม้อแปลงของ Hashimoto รุ่น HSU 20-3.5U ซึ่งแม้จะได้เสียงที่มีรายละเอียดที่ดีขึ้นแต่ก็ต้องแลกด้วยเงินในราคาค่อนข้างแพง ซึ่งอันนี้จะคุ้มหรือไม่ต้องอยู่ที่ท่านเองแล้ว

ภาคจ่ายไฟใช้ EZ150 เป็น rectifier

ส่วนภาคจ่ายไฟ ผมใช้หลอด EZ150 เป็นหลอด rectify โดยครั้งแรกผมใช้วงจร filter แบบ LCLC ปรากฏว่าเกิดอาการโช๊คตัวแรกครางจึงทดลอง ใช้ RC ค่าน้อยๆเพิ่มเข้าไปเพื่อลดพลังงาน ( ดูตามรูปในวงจร ) แต่ก็ยังได้ผลไม่ดีนัก ผมจึงปรับเปลี่ยนเป็น CLCLC จึงใช้งานได้ดี โดยใช้ C ตัวแรกที่ค่า 10uFและตัด R 25R ก่อน C ตัวแรกออกไป แต่ต้องลดไฟจากหม้อแปลงลงเพื่อให้ได้ B+ เท่าๆเดิม นอกจากนี้ผมยังได้ใส่หลอดตาแมว EM11 เข้าไปด้วยเพื่อความสวยงาม ทำให้แอมป์ดูเทห์ไม่หยอกครับ

Telefunken EZ150 หลอด rectify คู่บารมีของ EL156

สำหรับการประกอบแอมป์ตัวนี้ส่วนใหญ่ผมใช้อุปกรณ์ที่ยังหาซื้อได้ในเมืองไทย เช่น หม้อแปลงภาคจ่ายไฟจากคุณสมชาย ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ เช่น C coupling และหม้อแปลง output ผมสั่งจากนอก และในส่วนของสายไฟนั้นผมก็ใช้ silver teflon ซึ่งซื้อมาจาก ebay เช่นกัน และที่หายากอีกตัวหนึ่งคือ socket ยุโรป แบบ 10 pin ของ EL156 , EZ150 นั้น แบบ vintage ที่ผมใช้จะหายากมาก แต่ปัจจุบันมีของใหม่ที่ผลิตจากจีนขายกันใน ebay ในราคาค่อนข้างถูก หรืออาจจะซื้อของ Yamamoto ก็ได้ครับ ( ราคาแพงมาก )

อุปกรณ์ภายใต้แท่นเครื่องในรูปยังไม่ได้ใส่ C ตัวแรกของภาคจ่ายไฟเพิ่มเข้าไปยังเป็น version L input ซึ่งโช๊คครางครับ

หลังจากทำเสร็จแม้มีปัญหาอยู่บ้างแต่หลังจากที่แก้ปัญหาได้แล้ว เสียงที่ได้ของแอมป์ตัวนี้ก็ค่อนข้างดีทีเดียวครับ มันมีทั้งพลังและรายละเอียดเสียงที่ดี ฟังเพลงได้อย่างสนุก ทุกแนวเพลง ฟังเพลงร้องก็ไม่เลว เพลงบรรเลงก็ดี รวมไปกระทั่งร๊อค และฮิปฮอป ก็ยิ่งเข้าทางใหญ่ ทำให้ผมค่อนข้างชอบแอมป์ตัวนี้มาก ผมอาจไม่ใช่นักวิจารณ์หรือสามารถอธิบายเรื่องเสียงได้ดีนัก แต่ผมขอแนะนำเลยครับหลอดเบอร์นี้ แม้จะแพงและหายากไปหน่อยแต่เมื่อทำเสร็จแล้วจะคุ้มค่ากับเวลาและสตางค์ที่เสียไปครับ ผมรับรอง

*** รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก YB2005 ครับ ***

No comments: