Sunday, September 23, 2007

EL156SE ultra linear mode

My new EL156SE


ที่มา
เดิมผมได้ทำ แอมป์ SE ที่ใช้หลอด Telefunken EL156 ซึ่งเป็น beam pentode ที่ค่อนข้างโด่งดังของฝั่งยุโรป โดยเดิมผมทำแยกแท่นเป็นหม้อแปลง power และ แอมป์ ออกจากกัน ต่อมาผมแยกแท่นหม้อแปลง output ออกไปอีกทำให้แอมป์ตัวนี้เวลาใช้ต้องมีถึง 4 แท่นเวลายกไปไหนมาไหน ยุ่งยากลำบากพิลึก ผมจึงกะทำแท่นใหม่ให้มันซะ แต่กะว่ายังใช้วงจรและอุปกรณ์แบบเดิมๆอยู่

วงจร new EL156SE ( click เพื่อขยายภาพ )

วงจร
ในส่วนวงจรอย่างที่ว่าผมยังอยากให้เป็นเหมือนเดิม คือยังคงใช้หลอด C3m เป็นหลอด drive และยังคงใช้ triode mode ทั้ง C3m และ EL156 แต่ในส่วนของภาคจ่ายไฟมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เดิมใช้ choke input แล้วมีปัญหาโช๊คสั่น ผมจึงเปลี่ยนเป็น C input คราวนี้จึงลด choke ลงไปตัวหนึ่งเหลือ filter เป็น RCLCRC โดยต้องใช้ R drop มากหน่อยเพราะหม้อแปลงทำมาไฟสูงพอสมควร แต่หลอด rectify ยังคงเป็น EZ150 เหมือนเดิม แต่ที่สำคัญผมได้เพิ่ม fuse ขนาด .5A หลังหลอด rectify เพื่อใช้ป้องกันความเสียหายของหลอด rectify ที่หายากและราคาสูงนี้ในกรณีที่ C รั่ว หรือสายไฟช๊อตลงกราวน์ fuse ตัวนี้ก็จะขาดก่อนนับว่าสำคัญมากในกรณีที่ใช้หลอดสำหรับ rectify

ในส่วนหลอด drive เดิมตอนผมเอาไปทดลองต่อกับ passive pre amp ของคนอื่นนั้น พบว่าเกนใน triode mode มันน้อยไปเสียงที่ได้ขาดพลังอย่างมาก ผมจึงได้ทดลองหลอด C3m แบบ pentode mode แต่พอทำเสร็จแล้วลองต่อผ่านปรี #26 ของผมเสียงฮัมของปรีแอมป์ก็ดังชัดเจนเพราะเกนหลอด drive มันมากเกินไป พอเปลี่ยนกลับมาเป็น triode เหมือนเดิม มันก็เงียบสนิท จึงอดใช้ pentode อีกตามเคย

ด้านหลอด output EL156 นั้น ผมได้ทำ switch เพื่อเลือก mode ของ EL156 เป็น triode หรือ ultra linear mode เพื่อลองฟังดูว่าแต่ละ mode เสียงเป็นอย่างไร

อุปกรณ์ต่างๆ ใต้แท่นเครื่อง

และเนื่องมาจากการ set mode เป็น ultra linear นี่เองทำให้ผมต้องใส่ r grid stopper เข้าไปที่หลอด EL156 เนื่องจากการทำงานใน ultra linear ของหลอดพวกนี้จะเกิด oscillate ได้ง่ายกว่า triode mode ธรรมดา

ในการทำแอมป์ตัวนี้เนื่องจากขนาดแท่นที่เล็กลงผมจึงตัดส่วนของหลอด EM11 ซึ่งใช้สำหรับ monitor สัญญานออกไป และเนื่องจาก R drop ในภาคจ่ายไฟที่ร้อนมากผมจึงต้องเจาะรูที่แท่นแอมป์ไว้เป็นจำนวนมาก และหลังจากทำเสร็จผมก็รู้สึกผิดหวังกับหน้าตาของมัน มันไม่ลงตัวยังไงไม่รู้ แท่นมันคงเล็กเกินไปในขณะที่หม้อแปลงมันใหญ่มาก ดูขาดๆเกินๆยังไงไม่รู้ เฮ้อ

หลอดต่างๆที่ใช้ใน project นี้
แนวเสียง
มันก็ยังคงเหมือนเดิม แนวเสียงยังคงเป็นแบบเน้นรายละเอียดเสียง ความกระฉับกระเฉงและพลังที่มากของหลอดในแนว beam pentode ทำให้ฟังเพลงได้หลายแนว และเมื่อผมเปลี่ยนมาเป็น mode ultra linear ผมว่าเสียงน่าฟังยิ่งขึ้น มีรายละเอียดและเสียงมันดู clear ขึ้นกว่าเดิม คิดว่ากำลังก็มากขึ้นกว่าเดิมแต่ผมฟังในห้องที่มีพื้นที่จำกัด เปิดดังมากไม่ได้และไม่มีเครื่องมือวัดด้วยจึงไม่ทราบว่ามันได้กำลังเพิ่มขึ้นกี่ % ส่วนตัวผมคิดว่า mode นี้เหมาะกับหลอดตระกูลนี้มากครับ ผมชอบมากกว่า triode mode ธรรมดาครับ ลองไปทำกันดูคุณอาจชอบเหมือนผมก็ได้ครับ

Pentode mode
วงจร integrated amp EL156SE

ในที่สุดผมก็ทนความอยากรู้อยากเห็นเรื่องหลอด drive ใน pentode mode ไม่ได้ เนื่องจากเกนมันมากเกินไปที่จะใช้ร่วมกับปรีที่ผมมี ดังนั้นผมจึงใส่ volume 100K เข้าไปแทน R 47K ที่ grid ของหลอด C3m ตอนนี้แอมป์ตัวนี้ก็กลายเป็น Integrated amp ไปซะแล้ว ผมสามารถต่อกับ CD โดยตรงได้เลย
ผมได้ทดลองฟัง C3m pentode mode ได้ 1 วันเต็มๆ ผมก็รู้สึกว่าเสียงมันจะสดใสจัดจ้านมาก แม้ผมจะต่อผ่านปรี Ce ซึ่งคราวนี้สามารถต่อได้แล้วเพราะลด volume ที่แอมป์ลงมาเสียงฮัมก็จะน้อยจนไม่ได้ยิน แล้วใช้ปรับ volume ที่ปรีแทน คราวนี้ผมก็สามารถเปรียบเทียบกับ triode mode ได้ โดยความรู้สึกส่วนตัว ผมกลับชอบ C3m triode mode มากกว่า ผมว่ามันมีรายละเอียดดีและฟังผ่อนคลายกว่า pentode mode ซึ่งมันจะ aggressive กว่ามากจนรู้สึกว่าฟังแล้วมันจัดจ้านไปหน่อย ผมเดาเอาว่า C3m นี้ถ้าใช้ร่วมกับแอม์ประเภท DHT ที่เสียงจะนุ่มนวล speed ช้าๆนั้น pentode อาจจะเหมาะสมเพราะมันน่าจะเสริมกันได้ดี แต่พอมาใช้กับหลอดพวก beam pentode อย่างตระกูล ELxx อย่าง EL156 นี่อาจจะทำให้มันจัดจ้านไป ฟังแล้วไม่ค่อยจะผ่อนคลายเท่าไร ในกรณีนี้ triode mode จะเหมาะกว่า

EL156SE drive ด้วย EF12K

ด้วยข้อสันนิษฐาน แบบคาดเดาอย่างนี้ทำให้ผมอยากเอาหลอด pentode ที่มันโบราณกว่าพวก C3m มาทดลองกับ EL156 ดูว่ามันจะเข้ากันกว่าหรือไม่ เพราะผมเคยใช้หลอดตระกูล EF12 กับหลอด F2a ซึ่งเป็น beam tetrode แล้วได้ผลค่อนข้างดี แถม EL156 นั้นก็เป็นหลอดที่ขับง่าย ใช้หลอดพวก pentode ที่เก่าๆกระแสต่ำๆพวกนี้น่าจะพอไหว และผมก็เคยเห็นวงจรแอมป์สมัยโบราณของเยอรมัน ที่ใช้หลอด EL156 นั้นใช้หลอด EF40 ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับ EF12 อยู่ด้วย ดังนั้นมือไวเท่าความคิด ผมก็ทำการทดลองเปลี่ยนหลอด drive ของแอมป์ตัวนี้ทันที ด้วยความที่ผมได้ทำขดจุดใส้หลอด 6.3V2A เผื่อไว้อยู่แล้ว และแท่นแอมป์ใหม่นี้ก็เจาะช่อง socket ไว้แบบ 2 ชั้นอยู่แล้ว ผมก็แค่ทำที่ยึด socket ใต้แท่นใหม่สำหรับ socket ของ EF12 ซึ่งเป็นแบบ 8P เข้าไป ผมก็สามารถทดลองหลอด EF12 มา drive ได้เลย

EL156SE drive ด้วย EF12K pentode mode ( click ที่รูปเพื่อขยาย )

ผลสรุปของการ drive ด้วย EF12K pentode mode ผมพบว่าได้ผลดีกว่า C3m pentode mode ครับ เสียงมีรายละเอียดดีเช่นกันแต่ไม่ aggressive ฟังสบายผ่อนคลายกว่ามาก แนวเสียงแม้จะสดใสกระฉับกระเฉง แต่ก็ยังนุ่มนวลน่าฟัง ไม่แข็งกระด้าง ได้เกนน้อยกว่าทำให้เสียงเบากว่าทั้งที่จากการคำนวน C3m ที่ผม set มันจะได้เกนที่ 70 แต่ EF12 นั้นจะอยู่ที่ 100 เท่า แต่ทำออกมาแล้วกลายเป็นว่า C3m เสียงดังกว่าเมื่อบิด volume เท่ากัน อย่างไรก้ดีผมยังไม่ได้ทดลอง EF12K ใน triode mode ซึ่งว่างๆจะลองดูอีกทีว่าแนวเสียงจะเป็นอย่างไร สู้ C3m ได้หรือไม่ แต่ถ้าสรุปเอาเฉพาะ pentode นั้นสำหรับส่วนตัวผมแล้วผมคิดว่า EF12 เข้ากันกับ EL156 มากกว่า C3m แต่หากเอาไป drive พวก DHT ตระกูล 2A3 , 300B อะไรพวกนี้ C3m น่าจะเข้ากันได้ดีกว่า EF12 ครับแต่ผมก็ยังไม่เคยลองเลย คงต้องหาโอกาสลองดูซักครั้งเร็วๆนี้

ปล. พอผม set หลอด drive เป็น pentode ก็ปรากฏว่าพอผมจะใช้ EL156 เป็น ultra linear mode มันก็ดัน oscillate ซะนี่ ผมได้ทดลองเพิ่ม r grid 2 ให้มากขึ้นเป็น 1.2K แล้วก็ยังไม่หาย สุดท้ายจึงได้พบว่าใน ultra linear mode นี้หากเกนขยายมากเกินไปอาจเกิดปัญหา oscillate หรือหลอดทำงานผิดปกติได้ ผมแก้ปัญหาโดยการถอด C cathode bypass ของ EL156 ออก มันก็สามารถทำงานได้อย่างปกติ แต่ผมคิดว่าบุคคลิคของเสียงก็เปลี่ยนไปด้วย ผมชอบแบบมี C bypass นี้มากกว่าแต่ด้วยความอยากฟัง Ultra linear นี้ก็ต้องยอมล่ะครับ ซึ่งผมก็ยังงงอยู่ไม่หายเพราะเห็นใครๆเขาก็ใช้ C bypass นี้กันได้ไม่มีปัญหา ยังคิดวิเคราะห์อะไรไม่ออกครับว่าทำไมผมต้องเจอปัญหาอาการอะไรแปลกๆให้ปวดหัวเล่นอยู่เรื่อย สนุกไปอีกแบบล่ะครับ

All Telefunken tube EZ150 , EL156 and EF12K

PSU แบบ Semi choke input
ในตอนที่ผมเปิดใช้งานแอมป์ตัวนี้ไปซักระยะหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่ามันร้อนมากๆอันเนื่องมาจาก R drop ของผมมันสร้าง heat รวมกันเป็น 10W จนชักวิตกกังวลว่ามันจะทำให้อุปกรณ์ต่างๆภายในเครื่องมันเจ๊งเร็วกว่าปกติ ผมจึงแก้ไขภาคจ่ายไฟจากเดิม C input เป็น semi choke input ซึ่งก็เป็นแบบเดิมที่ผมใช้ในแอมป์ตัวนี้ตอนที่มันอยู่กับแท่นเดิมตั้งแต่เริ่มแรก ผมก็ถอด C 6uF ออกเปลี่ยนเป็น 1uF แล้วเปลี่ยน choke 10H 250mA เป็น 5H 300mA ตัวเดิมปรับเปลี่ยน RC filter อีกเล็กน้อย ตอนนี้ก็ได้ชุดจ่ายไฟใหม่แรงดันลดลงไปหน่อยแต่ไม่ร้อนอีกแล้ว คราวนี้นั่งฟังด้วยความสบายใจ แถมผมยังรู้สึกว่าเสียงมันกระชับและมี dynamic ดีกว่า C input ซะอีก ตอนนี้เสียงดีกว่าเดิมมากเลยครับ ไม่รู้ในอนาคตจะหาเรื่องเปลี่ยนอะไรตามประสาคนมือบอนอยู่ไม่สุขอีกหรือไม่

วงจร EF12K pentode drive EL156SE แบบ semi choke input

No comments: